มารู้จักกับการแข่งขัน Time Attack กันเถอะ! What is Time Attack?
“Time Attack” หรือรู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า “Superlap” หรือ “Tuner Battles” เป็นการแข่งขันรถยนต์ทางเรียบประเภทหนึ่ง ซึ่งมีความแตกต่างจากการแข่งขันรถยนต์โดยทั่วไป เนื่องจากการแข่งขันประเภท Time Attack เป็นการแข่งขันที่ไม่ได้แข่งเพื่อแย่งลำดับกับรถแข่งคันอื่นๆ เหมือนกับการแข่งขันโดยทั่วไป หากแต่ต้องแข่งขันกับ “เวลา” (เวลาในที่นี่หมายถึง เวลาต่อรอบนั่นเอง) หมายความว่าต้องทำเวลาให้ได้น้อยที่สุดในระยะทางที่กำหนดให้ จึงเป็นที่มาของคำว่า “Time Attack” และแน่นอนว่าผู้ที่สามารถทำเวลาต่อรอบได้น้อยที่สุดก็คือผู้ที่จะได้ยืนบนโพเดียมสูงสุดพร้อมกับชูถ้วยรางวัลชนะเลิศนั่นเอง
Time Attack มีต้นกำเนิดมาจากประเทศญี่ปุ่น เริ่มจัดขึ้นครั้งแรกประมาณปี ค.ศ.1980 ยุคนั้นถือว่าเป็นยุคบุกเบิกของวงการโมดิฟายรถยนต์ก็ว่าได้ ซึ่งมีอิทธิพลมาจากการเติบโตอย่างไม่หยุดยั้งของอุตสาหกรรมรถยนต์ของญี่ปุ่น แรกเริ่มเดิมทีนั้นการแข่งขัน Time Attack เป็นการรวมตัวกันของเหล่าจูนเนอร์ (Tuner) ทั่วเกาะญี่ปุ่น เพื่อจัดการแข่งขันขึ้นภายในกลุ่มเล็กๆ โดยนำรถที่ตนเองโมดิฟายมาแข่งขันกันในรูปแบบเซอร์กิต แต่เป็นการวิ่งแบบจับเวลา ไม่ใช่วิ่งเพื่อชิงอันดับ โดยมากแล้วจะจัดขึ้นที่สนาม Tsukuba Circuit อันโด่งดัง ในครั้งแรกๆ ที่จัดขึ้นนั้น มีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อความสนุกสนานเท่านั้น เรียกได้ว่ามาแข่งกันเอาสนุกเสียมากกว่า จะแพ้จะชนะก็ไม่เป็นไร
ในการแข่งขันรถยนต์ทางเรียบที่ไม่ใช่ Time Attack อย่างเช่น Super GT หรือ Formula1 จะปล่อยรถแข่งออกจากเส้นสตาร์ทพร้อมกัน และยังสามารถแบ่งการออกสตาร์ทเป็น 2 แบบ ได้แก่ Standing start และ Rolling start แต่สำหรับการแข่งขันประเภท Time Attack นั้น จะไม่เหมือนกับการแข่งรถโดยทั่วไป รถแข่งประเภท Time Attack จะถูกปล่อยตัวทีละคัน ซึ่งเป็นการปล่อยออกมาจาก Pit lane โดยจะปล่อยเพียงครั้งละ 4-5 คันเท่านั้น แต่ละคันจะเว้นระยะห่างกันประมาณ 15-20 วินาที นั่นหมายความว่า ในสนามแข่งจะมีรถเพียง 4-5 คันเท่านั้น (จำนวนรถในสนามจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับขนาดของสนามและดุลพินิจของกรรมการด้วย) อีกทั้งยังมีระยะห่างกันอีกด้วย ทำให้ไม่ต้องแย่งไลน์กันเพื่อเข้าโค้ง ไม่ต้องบังไลน์รถคันหลัง รถแข่งแต่ละคันจึงสามารถทำความเร็วได้เต็มที่ ซึ่งนี่ก็เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของ Time Attack
Chaser Motorworks EVO6 (2012 World Time Attack Challenge)
ปกติแล้วการแข่งขัน Time Attack จะจำกัดรอบการแข่งขัน Run ละไม่เกิน 3-4 รอบสนาม ใน 3-4 รอบนั้น จะประกอบไปด้วย (1) Warm-up lap = 1 รอบสนาม (2) Time lap = 1-2 รอบสนาม (3) Cool-down lap = 1 รอบสนาม รวมทั้งหมดแล้วจะประมาณ 3-4 รอบสนาม สรุปคือ ใน 1 Run รถแข่งจะต้องวิ่ง Warm-up lap, Time lap (รอบจับเวลา) และ Cool-down โดยจำนวน Run จะถูกกำหนดโดยผู้จัดการแข่งขัน จะเห็นได้ว่าจริงๆ แล้ว การปล่อยตัวของรถแข่งประเภท Time Attack เป็นแบบ Rolling start เพราะว่าเป็นการวิ่งต่อจาก Warm-up lap ซึ่งการออกสตาร์ทแบบนี้เรียกว่า “Full Rolling Start” เป็นการวิ่งผ่านเส้นสตาร์ทด้วยความเร็วสูงที่สุดเท่าที่จะทำได้ เมื่อวิ่งผ่านเส้นสตาร์ทแล้ว เวลาก็จะเริ่มเดินทันที นักแข่งต้องกดคันเร่งแบบสุดๆ ตั้งแต่โค้งสุดท้ายของรอบ Warm-up lap เพื่อทำความเร็วให้มากที่สุดก่อนเข้าสู่ Time Lap
Scorch Racing S15 (2012 World Time Attack Challenge)
เนื่องจากรถแข่งถูกปล่อยตัวทีละคัน และยังจำกัดจำนวนของรถแข่งในสนามแข่งด้วย ทำให้การเบียดกัน การปะทะกัน เกิดขึ้นได้น้อยมาก รวมไปถึงโอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุจนรถแข่งได้รับความเสียหายก็เกิดขึ้นได้ยากเช่นเดียวกัน นอกเสียจากว่าจะเกิดจากความไม่พร้อมของรถหรือเกิดจากความผิดพลาดของนักแข่งเอง อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่าการแข่งขันประเภท Time Attack มีความเสี่ยงต่ำกว่าการแข่งขันประเภท Circuit เนื่องจากการแช่งขันประเภท Circuit เป็นการแข่งขันกันเพื่อแย่งลำดับ การเบียดกันเข้าไลน์ หรือการบังไลน์ ถือเป็นเรื่องปกติ ดังนั้น โอกาสที่ปะทะกันจนรถแข่งจะได้รับความเสียหายจึงมีค่อนข้างมาก เพราะว่าการแข่งขันประเภท Time Attack มีความเสี่ยงต่ำนี่เอง ทำให้นักแข่งหน้าใหม่ไร้สำนัก พากันนำรถซิ่งที่ขับใช้งานอยู่ทุกวัน มาเข้ามาร่วมการแข่งขันอย่างมากมาย
EVO7 Nemo Racing (2012 World Time Attack Challenge)
การแข่งขัน Time Attack ก็มีการแบ่งรุ่นแบ่งคลาสเช่นเดียวกันกับการแข่งขันรถยนต์ประเภทอื่นๆ ลักษณะการแบ่งก็สามารถแบ่งได้หลายอย่าง เช่น แบ่งตามความจุเครื่องยนต์ แบ่งตามจำนวนแรงม้า แบ่งตามระบบขับเคลื่อน หรือแม้แต่แบ่งตาม “อัตราส่วนแรงม้าต่อน้ำหนัก” (Horse power/weight ratio) รุ่นเล็กสุดของการแข่งขันประเภทนี้คงหนีไม่พ้นรุ่น “Club Race” หรือ “Street Use” รถแข่งในรุ่นนี้มีการโมดิฟายระดับเริ่มต้นเท่านั้น ส่วนใหญ่เป็นรถไร้สำนัก ไม่มีสปอนเซอร์สนับสนุนอย่างเป็นทางการ เจ้าของรถจะลงทุนโมดิฟายโดยใช้เงินตป็นหลัก รวมไปถึงขับเองด้วย ทำเองขับเองว่างั้นเหอะ ส่วนรุ่นใหญ่สุดแรงสุดก็คือรุ่น “Professional Class” หรือมีอีกชื่อหนึ่งว่า “Super Open Class” รถที่ลงแข่งในรุ่นนี้เป็นรถที่โมดิฟายแบบทุ่มทุนสร้างเพื่อมาแข่งขัน Time Attack โดยเฉพาะ รถแข่งในรุ่นนี้มีชื่อเล่นเท่ห์ๆ ว่า “Time Attack Machine” นักแข่งในรุ่นนี้ส่วนใหญ่จะเป็นมืออาชีพกันทั้งนั้น ส่วนในเรื่องของกฎกติกาการแข่งขันนั้น ก็แน่นอนว่าต้องแตกต่างกันไปตามรุ่นตามคลาส เช่น รถแข่งที่ลงแข่งในรุ่น Club Race ก็ต้องมีการจำกัดแรงม้า จำกัดความกว้างหน้ายาง เพื่อไม่ให้ได้เปรียบเสียเปรียบกันเป็นต้น แต่สำหรับรุ่นพี่เบิ้มอย่างรุ่น “Professional Class” นั้น รถแข่งจะถูกบังคับเฉพาะเรื่องของอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยเท่านั้น เช่น เส้นผ่านศูนย์กลางและความหนาของโรลเคจ (Roll cage diameter and thickness) เป็นต้น จะไม่มีการจำกัดกำลังของเครื่องยนต์ หรือแอโรพาร์ทใดใดทั้งสิ้น เรียกได้ว่า มีปัญญาทำรถให้แรงแค่ไหนก็เอาเลย ขอให้ผ่านเรื่องเซฟตี้เป็นพอ จุดนี้เองที่เป็นเสน่ห์ของการแข่งขันประเภท Time Attack และกติกาแบบเปิดนี้เองที่ทำให้รถแข่งประเภทนี้ถูกโมดิฟายแบบสุดขั้ว ถึงขั้นที่ว่า สุดยอดรถแข่งอย่าง Super-GT ของญี่ปุ่น ที่แต่ละทีมมีแบ็คอัพเป็นสปอนเซอร์ยักษ์ใหญ่ อาจจะโดนรถปีศาจ Time Attack ทิ้งห่างแบบไม่เห็นฝุ่นด้วยซ้ำ มาถึงตอนนี้ หากจะพูดว่า Time Attack Machines เหล่านี้เป็น “รถแข่งทางเรียบที่ดีที่สุดในโลก” (The best production-based race car) ก็คงจะไม่ผิดนัก
Scion tC Chris Rados (2010 Global Time Attack)
Scion tC Chris Rados (2012 Global Time Attack)
ทุกวันนี้มีการจัดการแข่งขันประเภท Time Attack เกือบทุกภูมิภาค รายการใหญ่ๆ ที่มีชื่อเสียง ได้แก่
1. “World Time Attack Challenge” จัดขึ้นที่สนาม Eastern Creek Race Way ประเทศออสเตรเลีย จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี (World Time Attack Challenge)
2. “Red Line Time Attack” จัดขึ้นที่สนาม Buttonwillow Raceway, Laguna Seca, Sebring Raceway สหรัฐอเมริกา สนามแข่งจะสลับสับปลี่ยนกันไปทุกปี รายการนี้เป็นศูนย์รวมของสาวก Time Attack ทั่วทั้งอเมริกาเหนือ (redlinetimeattack.com)
3. “Tsukuba Superlap Battle” จัดที่สนาม Tsukuba Circuit ประเทศญี่ปุ่น จัดขึ้นค่อนข้างบ่อยครั้ง เป็นสนาม Time Attack ที่โด่งดังในญี่ปุ่น (Tsukuba Circuit Web Site (ภาษาญี่ปุ่น))
4. “Global Time Attack” จัดการแข่งขันในหลายสนามในสหรัฐอเมริกา เช่น Buttonwillow Raceway, Willow Springs Raceway และอื่นๆ (Global Time Attack | Time Attack Event Series)
สำหรับในเมืองไทยก็เคยมีการแข่งประเภท Time Attack เหมือนกัน เมื่อปี 2009 (2552) รายการ Kaeng Krachan Time Attack ที่สนามแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี และรายการ XO Time Attack สนามพีระเซอร์กิต พัทยา
แต่ก็จัดกันแค่ปีเดียว คาดว่าไม่ค่อยได้รับความสนใจจากนักแข่ง และยังไม่รู้จักหรือเข้าใจวิธีการแข่งประเภท Time Attack
รถแข่งจากทีม Toyota Arto แข่งในรุ่น Open Silhouette ทำเวลาดีที่สุด 1.00.554 ในรายการ XO Time Attack
ภาพงาน XO TIME ATTACK 2009, ผลการจัดอันดับ XO Time Attack 2009 ออกมาแล้ว เร็วที่สุดในปีนี้ 1:00:554 นาที
ความแตกต่างระหว่าง Time Trial และ Time Attack
Time Trial และ Time Attack เป็นการแข่งขันรถยนต์แบบจับเวลาเหมือนกัน แต่ก็มีความแตกต่างกันในเรื่องของกฎกติกา อย่างไรก็ตาม เป็นที่สับสนกันมานานแล้วว่า การแข่งขัน Time Trail และ Time Attack เหมือนกันหรือแตกต่างกันอย่างไร ถ้ามันเหมือนกันทำไมไม่รวมกันเป็นอันเดียวไปเลย แล้วถ้ามันไม่เหมือนกันแล้วแตกต่างกันตรงไหนบ้าง?
การแข่งขัน Time Trial นั้น นักแข่งสามารถวิ่งกี่รอบสนามก็ได้ แต่ต้องอยู่ภายในช่วงเวลาที่กำหนด โดยมีวัตถุประสงค์อย่างเดียวคือทำเวลาให้ที่ดีที่สุด จะเข้าพิทเปลี่ยนยางกี่ชุดก็ได้ จะเติมน้ำมันกี่รอบก็ จะเข้ามาปรับแต่งแก้ไขรถแข่งก็ได้ พูดง่ายๆ ว่า วิ่งกี่รอบก็ได้ ขอให้ได้เวลาที่ดีที่สุดเป็นพอ เมื่อหมดเวลาแข่งขัน เวลาที่ดีที่สุดที่นักแข่งแต่ละคนจะถูกนำมาเรียงลำดับเพื่อหาผู้ชนะ
ส่วนการแข่งขัน Time Attack นั้น ผู้จัดการแข่งขันจะกำหนดจำนวนรอบสนามที่นักแข่งต้องวิ่งหรือเรียกว่า “Run” และใน 1 Run ต้องมีอย่างน้อย 3 รอบสนาม ได้แก่ Warm-up lap, Time lap และ Cool-down lap ในการแข่งขัน 1 วัน จะมีหลาย Run ข้อเสียของการแข่งขันแบบนี้ก็คือถ้าพลาดใน Run ไหนแล้วก็คือพลาดเลย ไม่มีโอกาสให้แก้ตัว ต้องรอแก้ตัวใน Run ต่อไปเท่านั้น ซึ่งแตกต่างกับแบบ Time Trial ที่สามารถแก้ตัวได้ใหม่หากยังมีเวลาเหลืออยู่ อย่างไรก็ตาม ปกติแล้วการแข่งขันแบบ Time Attack จะมีการจำกัดจำนวนรถในสนาม ทำให้ในสนามแข่งมีจำนวนรถแข่งน้อยกว่าการแข่งขันประเภท Time Trial ทำให้สามารถทำความเร็วได้เต็มที่ และมีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุน้อยกว่า อีกทั้งกฎและกติกาของการแข่ง Time Attack จะหลวมกว่าและเปิดมากกว่า พูดง่ายๆว่าสมัครเข้าแข่งขันได้ง่ายกว่า ทำให้การแข่งขันประเภท Time Attack ได้รับความนิยมไปทั่วโลก