สวัสดีครับ วันนี้ทีมงาน RacingWeb.NET ได้มีโอกาสทดสอบรถกระบะ TOYOTA HILUX REVO ที่เปิดตัวมาแทนที่เจ้าตลาดรถกระบะตัวก่อนอย่าง VIGO ที่ทำตลาดอยู่ในเมืองไทยมายาวนานกว่า 10 ปี ซึ่งเพรียบพร้อมมาด้วยเทคโนโลยีและออฟชั่นใหม่ๆ มากมายสมคำโฆษณา “ปฏิวัติทุกมิติ แห่งกระบะอนาคต”
จริงๆแล้ว REVO นั้นได้เปิดตัวและเปิดให้ผู้ที่สนใจได้ทำการ Test Drive แล้วที่ศูนย์บริการต่างๆ รวมทั้งสื่อต่างๆหลายแขนงก็ได้มีโอกาสได้สัมผัสและทดสอบความโดดเด่นในแต่ละด้าน ทั้งเรื่องความสะดวกสบายต่างๆ ความสวยงาม อุปกรณ์ความปลอดภัย มาพอสมควรแล้ว แต่สิ่งที่ RacingWeb.NET ได้ทำการทดสอบ,สัมผัส เพื่อมาสื่อให้กับผู้อ่านในครั้งนี้นั้นคงจะเป็นมุมมองที่แตกต่างกันออกไป จากทีมงานทดสอบรถและอุปกรณ์เกี่ยวกับรถยนต์ในมุมมองที่อยู่ในระดับ Street Use และในมุมมองจากนักแข่งรถกระบะอาชีพ โดยใช้อุปกรณ์จับเวลาที่มีมาตรฐานที่ใช้วัดสมรรถนะของรถแข่งเพื่อนำมาวัดสมรรถนะของ REVO ในครั้งนี้
สำหรับรถที่เราได้มีโอกาสได้ทดสอบจะเป็นรุ่น DOUBLE CAB 4 ประตู เครื่องยนต์ดีเซล 2.8 ลิตร มี 2 คันเป็นเกียร์ธรรมดา iMT 6 Speed 1 คัน และเกียร์อัตโนมัติ 6 Speed
โดยทั้งสองคันนอกจากจะมีโหมดการขับแบบปกติหรือ Normal Mode แล้ว ยังมี PWR Mode หรือ Power Mode และ ECO Mode หรือ โหมดการขับแบบประหยัด ซึ่งในการทดสอบครั้งนี้เราใช้เพียงแค่ Normal Mode และ Power Mode เพียงเท่านั้น ส่วน ECO เราไม่มีการทดสอบเพื่อวัดสมรรถนะแต่อย่างใด โดยเกียร์ธรรมดาในรุ่นที่ใช้เครื่องดีเซล 2.8 นั้นมีความพิเศษอีกอย่างที่เกี่ยวข้องกับสมรรถนะของรถเพิ่มขึ้นมาอีกอย่างคือระบบ iMT
Power Mode และ ECO Mode ทำงานอย่างไร
หากจะเทียบก็คงเทียบกับพวกกล่องช่วยควบคุมคันเร่งไฟฟ้าครับ มันจะไปช่วยปรับระยะคันเร่ง หรือ Length ของการกดคันเร่งให้เรา เช่นถ้ากดคันเร่งเท่ากัน ที่ ECO Mode จะมีรอบเครื่องน้อยที่สุด Normal Mode รอบเครื่องจะสูงกว่า และ Power Mode จะมีรอบเครื่องสูงที่สุด หรือพูดง่ายๆคือช่วยให้คนขับ “ตีนหนัก” หรือ “ตีนเบา” ได้โดยการปรับระยะคันเร่ง หากอยู่ใน Power MODE เหยียบคันเร่งนิดเดียวรถก็พุ่งไปอย่างรวดเร็ว ส่วน ECO Mode รถจะค่อยๆไปเพราะ Length คันเร่งยาวกว่าจนกลายเป็นค่อยๆเร่งไปส่งผลให้ประหยัดน้ำมันแต่ก็สามารถไปได้อย่างรวดเร็วถ้ากดคันเร่งเยอะหน่อย แต่อีกอย่างที่สำผัสได้ใน Power MODE คือในรุ่นเกียร์อัตโนมัติ เมื่อมีการลดความเร็วลงจะมีการสั่งลดเกียร์มารอเพื่อให้พร้อมที่จะเร่งต่อไปได้ในข่วงรอบเครื่องที่มีกำลังสูงตลอดเวลา
ระบบ iMT คืออะไร
สำหรับระบบนี้เราได้ลองสอบถามข้อมูลจากทางผู้จัดการแผนกขาย ได้อธิบายให้ฟังว่าเป็นระบบช่วยให้การออกตัวและการเปลี่ยนเกียร์ของเกียร์ธรรมดานั้นนุ่มนวลขึ้น แต่ทั้งนี้ระบบจะไม่สามารถช่วยได้หากทำการออกตัวโดยการปล่อยคลัชอย่างรุนแรง ซึ่งในทางเทคนิคหรือด้านกลไกที่เพิ่มเติมเข้ามาจากระบบเกียร์ธรรมดาทั่วๆไปนั้นเรายังไม่ทราบข้อมูล แต่จากการทดสอบในหลายๆสถานะการณ์ที่เราทดลองก็พบความแตกต่างและความฉลาดของเจ้าระบบ iMT ให้พอจับจุดได้ว่ามันทำงานอย่างไรดังนี้
- เมื่อปล่อยคลัชในระหว่างเปลี่ยนเกียร์ให้สูงขึ้น ระบบ iMT จะพยายามรักษารอบเครื่องให้เหมาะสมกับเกียร์และความเร็วรถในขณะนั้น เพื่อช่วยให้เกิดการกระชากของตัวรถน้อยที่สุด
- การเปิดระบบ iMT สามารถวัดประสิทธิภาพการใช้งานของรถได้สูงกว่าการไม่ใช้ระบบ iMT ทั้งนี้ตัวระบบเองน่าจะมีการจับความเร็วของรถ ตำแหน่งเกียร์ที่ใช้อยู่ ระยะการปล่อยคลัช และระดับคันเร่ง เพื่อทำการควบคุมคันเร่งให้เพิ่มหรือลดให้เหมาะสมกับตัวแปรต่างๆ ณ เวลานั้นเพื่อให้การปล่อยคลัชมีประสิทธิภาพสูงสุด คือคลัชไม่ฟรีจนเกินไปและผ้าคลัชจับกันได้เร็วที่สุดในรอบเครื่องที่เหมาะสมเพื่อพร้อมส่งกำลังจากเครื่องยนต์ไปที่ระบบเกียร์จนเกิดเป็นสมรรถนะสูงสุดของรถนั่นเอง
- ในการลดเกียร์เราพบว่าเมื่อทำการเหยียบคลัชและลดเกียร์ในขณะที่ความเร็วรถยังอยู่ในระดับสูงกว่าเกียร์ที่จะลงไปใช้ ระบบ iMT จะทำการเพิ่มรอบเครื่องไว้รอในระดับที่เหมาะสมกับความเร็วและตำแหน่งเกียร์ในขณะนั้น เพื่อที่ว่าเมื่อเราปล่อยคลัชขึ้นมาตัวรถจะไม่มีอาการหัวทิ่มเลยแม้แต่น้อย ตรงนี้เองเป็นข้อดีกับผู้ขับรถเกียร์ธรรมดาโดยเฉพาะมือใหม่ๆนะครับ แต่สำหรับในมือเก๋าๆอาจจะไม่ค่อยชอบเนื่องจากระบบนี้อาจจะทำให้เราไม่ได้ใช้ Engine Brake เลยเพราะรอบเครื่องตีขึ้นมารอในระดับที่ไม่ให้เกิดการกระชากของตัวรถเลยนั่นเอง
เมื่อเรารู้โหมดและลักษณะการทำงานของระบบต่างๆแล้วลองมาดูผลการทดสอบกันบ้าง โดยเราแบ่งการทดสอบเป็น 2 แบบคือ
- การทดสอบอัตราเร่งโดยจับเวลาที่ทำได้จากการวิ่งออกตัวจากความเร็ว 0 Km/h จนได้ความเร็ว 60 , 80 , 100 Km/h เพื่อเปรียบเทียบการใช้งานของรถทั้งสองรุ่นในโหมดต่างๆ
- การทดสอบการทำเวลาในระยะ 400m โดยจับเวลาที่ทำได้จากการวิ่งออกตัวจากความเร็ว 0 Km/h จนได้ระยะทาง 100 , 300 , 400 m เพื่อเปรียบเทียบการใช้งานของรถทั้งสองรุ่นในโหมดต่างๆ
ในการทดสอบสมรรถนะ TOYOTA HILUX REVO เราทดสอบเหมือนการใช้งานทั่วไป ซึ่งต้องวิ่งบนถนนปกติ เพื่อให้ใกล้เคียงกับการใช้งานจริง ซึ่งใช้ระยะทางทดสอบสั้นๆและความเร็วสูงสุดไม่มากเกินกว่าที่คนทั่วไปใช้งานกัน โดยจะเน้นความปลอดภัยเป็นหลัก
ซึ่งอาจจะให้ผลการทดสอบได้ความเร็วและเวลาที่ไม่สม่ำเสมอในแต่ละครั้ง อันเนื่องมาจากสภาพพื้นผิวถนน แรงลมจากสภาพแวดล้อมซึ่งในบางครั้งก็มีแรงลมที่ปะทะมาจากรถที่เราขับแซงรถขนาดใหญ่ และในเวลาที่เราทำการทดสอบมีอุณหภูมิอากาศภายนอกถึง 37 องศาเซลเซียส
ผลที่ได้ตามตารางครับ
*การวัดค่าในบางโหมดไม่สามารถหาข้อสรุปได้เนื่องจากข้อมูลที่เก็บได้ไม่เพียงพอและระยะเวลาในการทดสอบของเรามีจำกัด
จุดน่าสนใจที่สังเกตได้คือในรุ่นเกียร์ธรรมดานั้นการเปิดใช้ระบบ iMT มีแนวโน้มที่รถจะมีสมรรถนะที่ดีกว่าไม่ได้ใช้ iMT ทั้งนี้เหตุผลน่าจะเป็นเรื่องของการควบคุมภาวะการทำงานต่างๆให้ทำงานได้เหมาะสมจนเกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการส่งกำลังเครื่องยนต์ผ่านคลัชไปสู่ระบบเกียร์ ซึ่งแม้การเปิดระบบ iMT จะเป็นโหมดที่ช่วยให้การออกตัวและในจังหวะการเปลี่ยนเกียร์แต่ละครั้งให้นุ่มนวลกลับให้ผลในการทำเวลาได้ดีกว่าปิดระบบ iMT แสดงกว่าออกตัวแรงๆ เปลี่ยนเกียร์กระชากไม่ได้ทำให้รถเร็วขึ้น ในทางกลับกันจะมีผลทำให้อายุการใช้งานของเครื่องยนต์และระบบส่งกำลังมีอายุสั้นลง
จุดที่น่าแปลกใจคือในรุ่นเกียร์ธรรมดาการใช้ Power MODE กลับมีแนวโน้มในการทำเวลาได้ด้อยกว่าการขับที่ Normal MODE ทั้งนี้ในการทดสอบนั้นใช้วิธีการออกตัวที่รอบเครื่อง 3,000 รอบ/นาที ซึ่งเป็นการออกตัวในรอบเครื่องที่มีกำลังส่งสูงสุดจึงเกิดอาการล้อฟรีในตอนออกตัว ทั้งนี้เมื่อล้อฟรีแล้วก็จะขึ้นอยู่กับเทคนิคการเลียคลัชและเลี้ยงคันเร่งของผู้ขับเพื่อให้รถออกตัวได้ในรอบเครื่องที่ดีที่สุด ตรงนี้ Mode การขับหรือผู้ง่ายๆว่า Mode การปรับ Length ของคันเร่งมีความสำคัญมากครับ ซึ่งในการออกตัวแบบนี้ Normal MODE จะทำให้ผู้ขับมีระยะการควบคุมรอบเครื่องได้ง่ายกว่าจึงทำให้ออกตัวได้ดีกว่า Power MODE ในจุดนี้ถ้าต้องการประสิทธิภาพสูงสุดเราแนะนำให้ผู้ขับออกตัวด้วย Normal MODE เมื่อออกตัวได้แล้วก็เปิด Power Mode เพื่อเข้าสู่โหมด “ตีนหนัก” ต่อไปนั่นเอง
สำหรับการเปรียบเทียบประสิทธิภาพของรุ่นเกียร์อัตโนมัติผลที่ได้จากการทดสอบอัตราเร่งและการทดสอบการทำเวลา มีตัวเลขที่ใกล้เคียงกันกับการทดสอบเกียร์ธรรมดามาก โดยเฉพาะการใช้ Power MODE จะทำได้เวลาดีเทียบเท่าเกียร์ธรรมดาเลยทีเดียว ทั้งนี้น่าจะมาจากอัตราทดเกียร์ที่มีมาให้ถึง 6 Speed ที่สามารถออกตัวได้ดีและส่งกำลังได้อย่างต่อเนื่องได้อย่างรวดเร็ว งานนี้บอกได้คำเดียวครับว่าถ้าเอามาวิ่งเทียบกันถ้าคันที่ใช้เกียร์ธรรมดามีพลาดหรือ “ว่าวเกียร์” คงต้องมีโดนคันที่ใช้เกียร์อัตโนมัติแน่นอน
อีกจุดที่น่าสังเกตคือในรุ่นเกียร์ธรรมดาการขับด้วย Normal MODE ทำเวลาได้ดีกว่า Power MODE ตามที่เราได้อธิบายไปแล้วเกี่ยวกับเรื่องระยะการควบคุมคันเร่งในการออกตัว แต่ในเกียร์อัตโนมัตินั้นการใช้ Power MODE กลับมีประสิทธิภาพมากกว่าการใช้ Normal MODE ทั้งนี้เพราะเกียร์อัตโนมัติไม่มีช่วงในการปล่อยคลัชออกตัวเหมือนเกียร์ธรรมดา จึงไม่มีตัวแปรเรื่องระยะการจับของคลัชและระยะการฟรีของล้อในตอนออกตัว การใช้ Power MODE ในเกียร์อัตโนมัติจึงสามารถส่งกำลังได้ไวตั้งแต่ออกตัวไปตลอดทุกเกียร์ที่ใช้งานกันเลยทีเดียว
วิเคราะห์อัตราทดเกียร์ทั้งสเปค 5 สปีด และ 6 สปีด
เริ่มต้นอัตราทดเกียร์ 5 สปีดที่ใช้อยู่ใน HILUX REVO มีดังนี้
- เกียร์ 1 – 4.313
- เกียร์ 2 – 2.330
- เกียร์ 3 – 1.436
- เกียร์ 4 – 1
- เกียร์ 5 – 0.838
อัตราทดเฟืองท้าย 3.583 ขนาดล้อที่ใช้ 215/65R16 คำนวณออกมาจะได้ตัวเลขออกมาตามนี้
จะเห็นได้ว่าความเร็วสูงสุดแค่ 148.3 กม./ชม.@3500* รอบต่อนาที เท่านั้นเอง (ทำไมน้อยจัง) แต่ก็ยังสามารถลากรอบต่อไปได้อีก ฉะนั้นความเร็วสูงสุดไม่ได้ถูกจำกัดที่รอบเครื่องเท่านี้แน่นอน
* 3500 รอบต่อนาที คือช่วงที่ผ่านจากแรงม้าสูงสุดแล้วเริ่มลดลงตามสเปคเครื่องยนต์ ลากรอบต่อไปไม่มีแรงบิดและแรงม้าเพิ่มขึ้นให้ใช้งานมีแต่รอบเครื่องเท่านั้น
อัตราทดเกียร์ 6 สปีดสำหรับ HILUX REVO มีดังนี้
- เกียร์ 1 – 4.784
- เกียร์ 2 – 2.423
- เกียร์ 3 – 1.443
- เกียร์ 4 – 1
- เกียร์ 5 – 0.826
- เกียร์ 6 – 0.643
(สำหรับเกียร์ 6 สปีดปกติกับรุ่น iMT จะมีอัตราทดต่างกันแค่เกียร์ 5 เท่านั้น iMT 0.826 ส่วนรุ่นปกติ 0.777)
อัตราทดเฟืองท้าย 3.583 ขนาดล้อที่ใช้ 265/65R17 สังเกตได้ว่าอัตราทดเกียร์ของ Revo จะมีเกียร์ที่เป็น Over Drive ถึง 2 สปีดเลย จากปกติจะมีแค่เกียร์สุดท้ายเท่านั้นที่จะมีอัตราทดน้อยกว่า 1.0 คำนวณออกมาจะได้ตัวเลขออกมาตามนี้
จะเห็นได้ว่าความเร็วสูงสุด 215.6 กม./ชม.@3500* รอบต่อนาที แค่คาดว่าคงถูกจำกัดความเร็วเอาไว้ไม่เกิน 180 กม./ชม.
จากสเปคอัตราทดเกียร์ทั้งสองแบบจะเห็นได้ชัดเจนว่าเกียร์แบบ 6 สปีดจะมีความเร็วที่สูงกว่า ในขณะที่ใช้รอบเครื่องยนต์ได้ต่ำกว่า นั้นหมายความว่า ถ้าเทียบกับเครื่องยนต์ตัวเดียวกันจะมีแนวโน้มของความประหยัดน้ำมันอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากใช้รอบเครื่องยนต์ได้ต่ำกว่าในขณะที่ความเร็วเท่ากัน ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคุณวิ่งด้วยความเร็ว 100 กม./ชม. เกียร์แบบ 5 สปีด ที่เกียร์ 5 จะใช้รอบเครื่องยนต์ที่ 2360 รอบต่อนาที
ในขณะที่เกียร์แบบ 6 สปีด ที่ความเร็ว 100 กม./ชม. ที่เกียร์ 6 จะใช้รอบเครื่องยนต์ที่ 1624 รอบต่อนาที
คำแนะนำ: ในการใช้งานจริงที่เกียร์ 6 ควรจะใช้รอบเครื่องยนต์มากกว่า 1600 รอบต่อนาทีขึ้นไป เนื่องจากช่วงรอบเครื่องระดับนี้หรือต่ำกว่านี้ เครื่องยนต์จะเริ่มสั่น (รอบเครื่องต่ำเกินไป) รอบเครื่องยนต์ที่แนะนำให้ใช้ที่เกียร์ 6 คือรอบเครื่องตั้งแต่ 1700-2000 รอบต่อนาที ซึ่งเป็นรอบเครื่องยนต์ที่เหมาะสมและการทำงานของเครื่องยนต์นุ่มนวลมากที่สุด (120 กม./ชม.@1948 รอบต่อนาที)
ความเห็นจากนักทดสอบรถ
“การทดสอบโดยรวมเป็นเวลาและความเร็วที่คนทั่วไปสามารถใช้งานได้จริง ถึงแม้ว่าการทดสอบบางช่วงอาจจะขัดแย้งกับความรู้สึกความน่าจะเป็น เช่น เกียร์ธรรมดาเปิด Power Mode วิ่งสู้ปิด Power Mode ไม่ได้ หรือเปิด iMT การออกตัวและการเข้าเกียร์ที่นุ่มนวลทำเวลาได้ดีกว่า ปิด iMT หรือออกตัวรุนแรง เปลี่ยนเกียร์กระชากเป็นต้น
แต่เนื่องจากระยะทางที่จำกัด รวมทั้งพื้นผิวถนนที่ไม่ได้เหมาะสมเพื่อที่จะทำเวลากับความเร็ว เพื่อค่าเฉลี่ยได้ทุกครั้ง จึงมีผลทำให้การทดสอบครั้งนี้ อาจจะไม่ค่อยสมบูรณ์แบบ แต่อย่างน้อยผลการของการทดสอบโดยรวมของรถ Toyota Hilux Revo มีสมรรถนะที่ดีมาก เครื่องยนต์ถูกออกแบบให้มีความประหยัดน้ำมันมากกว่าที่จะเน้นความแรงเป็นหลัก
การออกแบบอัตราทดเกียร์ทำมาได้ค่อนข้างดี มีเกียร์ Over Drive ถึง 2 เกียร์ (เกียร์ 5 และ 6) การใช้รอบเครื่องยนต์สัมพันธ์กันในแต่ละเกียร์ ในจังหวะการเปลี่ยนเกียร์รอบเครื่องยนต์ไม่ตกมาก ในช่วงความเร็วสูงใช้รอบเครื่องยนต์ต่ำกว่าเกียร์แบบ 5 เกียร์หรือรถรุ่นเก่า จึงทำให้เครื่องยนต์ไม่ต้องทำงานหนัก มีผลทำให้ประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิง
เรื่องช่วงล่างในการทดลองขับครั้งนี้ วริศ อ่อนระยับ นักทดสอบรถของ RacingWeb.NET และ นักแข่งรถอาชีพ ที่มีผลงานโดดเด่นมากมายในหลายๆรายการแข่งขันชั้นนำโดยเฉพาะในรุ่นรถกระบะ ระหว่างการเดินทางและเส้นทางที่เราทดสอบรถ ไม่มีโอกาสที่จะทดสอบช่วงล่างได้อย่างจริงจัง จึงไม่สามารถบอกได้ว่ารถมีการเกาะถนนดีหรือไม่ แต่จากที่สัมผัสความรู้สึกคร่าวๆ ของการทรงตัวของรถ ค่อนข้างดี การทรงตัวของรถที่ดี ก็จะมีแนวโน้มหรือมีเสรียรภาพในการเกาะถนนในโค้ง แต่ผมยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะดีจริงอย่างที่คิดเอาไว้หรือเปล่า ถ้าทีมงานเรามีโอกาสทดสอบ Revo ใหม่ เราจะทดสอบเรื่องการทรงตัวของรถและการเกาะถนนอย่างจริงจังอีกครั้ง แต่สิ่งที่ประทับใจและชอบมากที่สุด คืออัตราทดเกียร์นี้แหละ อัตราทด 6 จังหวะ ส่งกำลังได้ต่อเนื่อง การเปลี่ยนเกียร์ต่อเกียร์ไม่ต้องใช้รอบเครื่องเยอะ เกียร์สูงสุดได้ความเร็วในช่วงรอบเครื่องต่ำ ซึ่งจะผมต่อการประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงด้วย เยี่ยมจริงๆ ส่วนเกียร์อัตโนมัติก็มีสมรรถนะที่ดีไม่แพ้เกียร์ธรรมดา เรียกได้ว่าสู่สีกันมาก ถ้าขับในเมืองก็สบายคล่องตัว ถือว่าเป็นตัวเลือกน่าสนใจมาก
ส่วนความเห็นด้านช่วงล่างของ กานต์ ดิษฐขัมภะ นักทดสอบรถของ RacingWeb.NET ซึ่งที่ผ่านมาได้มีโอกาสได้ใช้งาน TOYOTA HILUX VIGO DOUBLE CAB 4 ประตู เครื่องยนต์ดีเซล 3.0 เกียร์อัตโนมัต 4 Speed เป็นประจำ ซึ่งสามารถใช้ความรู้สึกเปรียบเทียบกับการทดสอบ HILUX REVO DOUBLE CAB 4 ประตู ในครั้งนี้เป็นอย่างดี ซึ่งมีความเห็นว่า แม้ระยะทางในการทดสอบ และสภาพแวดล้อมในการทดสอบค่อนข้างจำกัด แต่ในมุมของการขับขี่บนถนนที่ใช้งานจริงนั้นบอกได้ว่า ช่วงล่างของ HILUX REVO นั้นให้ความรู้สึกมั่นคงเพิ่มขึ้นจาก HILUX VIGO พอสมควร ส่วนเรื่องอัตราเร่งนั้นแม้จะเป็นเครื่องดีเซล 2.8 แต่ให้ความรู้สึกว่าอัตราเร่งดีกว่า HILUX VIGO 3.0 ไม่ถึงกับหวือหวา แต่ก็รู้สึกได้ว่าดีกว่าและมีความต่อเนื่องของอัตราเร่ง ซึ่งน่าจะได้มาจากอัตราทดเกียร์ที่มีถึง 6 Speed นั่นเอง”
RacingWeb.NET ขอขอบคุณ โตโยต้าท่าจีน สาขาสามพราน ที่เอื้อเฟื้อข้อมูลและรถ TOYOTA HILUX REVO สำหรับการทดสอบในครั้งนี้ครับ