Street Weapon: The God of Wind
สตรีทเว็พพอน: เทพเจ้าแห่งสายลม
“Street Weapon” (สตรีท เว็พพอน) เป็นชื่อเรียก “สไตล์ของการแต่งรถ” รูปแบบหนึ่ง ซึ่งกำลังได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในหมู่ขาซิ่ง ไม่เฉพาะที่บ้านเราไทยแลนด์เท่านั้น ประเทศในแถบเอเชียหรือยุโรปเองก็กำลังได้รับความนิยมเช่นเดียวกัน จุดเด่นของรถสายนี้ก็คือ แอโรพาร์ทขนาดใหญ่ทรงดุดันน่าเกรงขาม นอกจากนั้นยังต้องมีล้อน้ำหนักเบาที่รัดด้วยยางสมรรถนะสูง (High Grip) และบนแก้มยางจะมีการพ่นสีเป็นตัวอักษรซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์อีกอย่างหนึ่งของรถสายนี้
ตามความเข้าใจของผมแล้ว คำว่า “Street Weapon” น่าจะมาจากคำว่า “Track Weapon” (แทร็ค เว็พพอน) ซึ่งหมายถึงรถแข่งที่ถูกปรับแต่งอย่างเต็มรูปแบบเพื่อใช้ลงแข่งในอีเวนท์ประเภท “Track Day” (แทร็คเดย์) ถ้าพูดถึง Track Day แล้ว ส่วนใหญ่จะหมายถึงอีเวนท์การแข่งขันรถยนต์ทางเรียบที่จัดขึ้นในสนามแข่งที่มีมาตรฐาน เพราะฉะนั้น รถประเภท Track Weapon ก็คือรถแข่งเซอร์กิตประเภทหนึ่งนั่นเอง เนื่องจาก Track Weapon คือรถที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อวิ่งบนสนามแข่งโดยเฉพาะ รถประเภทนี้จึงมีการอัพเกรดเครื่องยนต์และเซ็ทอัพช่วงล่างอย่างมืออาชีพ เรียกได้ว่าเกิดมาเพื่อแข่งเซอร์กิตโดยเฉพาะ
รถประเภท Track Weapon ยังสามารถแบ่งเป็นอีกหลายสาย เป็นต้นว่า “Street-used Weapon” หรือ “Track-focused Weapon” แต่ถ้าหากจะพูดถึงสุดยอดของรถประเภท Track Weapon หรือสุดยอดรถแข่งสายเซอร์กิตก็คงต้องยกให้กับ “Time-Attack Weapon” (ไทม์-แอทแทค เว็พพอน) รถแข่งประเภท Time-Attack Weapon ก็คือ Track Weapon ประเภทหนึ่งซึ่งมีสมรรถนะที่สูงมากๆ รถประเภทนี้เป็นรถที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อใช้ลงแข่งในรายการประเภท “Time Attack” โดยเฉพาะ การแข่งขันประเภทนี้ไม่ใช่การแข่งขันเพื่อแย่งลำดับเข้าเส้นชัย หากแต่เป็นการแข่งขันเพื่อทำเวลาต่อรอบให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้
Scion TC : รถแข่งประเภท Time Attack
รถประเภท Time-Attack Weapon จะให้ความสำคัญกับแอโรพาร์ทเป็นอย่างมาก ซึ่งแตกต่างจากรถประเภทเซอร์กิตที่จะเน้นหนักไปทางเครื่องยนต์และช่วงล่างเป็นสำคัญ ที่ต้องให้ความสำคัญกับแอโรพาร์ทก็เพราะว่า เนื่องจากการแข่งขันประเภท Time Attack นั้น จะปล่อยรถแข่งทีละคัน ไม่ได้ปล่อยพร้อมกันเหมือนการแข่งขันประเภทเซอร์กิต ทำให้มีโอกาสน้อยมากๆ ที่จะเบียดกันหรือปะทะกัน เพราะฉะนั้น รถแข่งแต่ละคันจึงออกแบบชุดแอโรพาร์ทให้มีขนาดใหญ่และยื่นออกมาจากตัวรถมากกว่าปกติ เพื่อให้รับลมได้มากและสามารถสร้างแรงกด (Downforce) ให้ได้มากที่สุด
Nissan Silvia S13 : รถแข่งประเภท Time Attack
เนื่องจากกฎกติกาของการแข่งขันประเภท Time Attack จะไม่ค่อยเข้มงวดมากนัก จึงถือเป็นการแข่งขันที่ค่อนข้างเปิดกว้าง โดยเฉพาะรถแข่งรุ่นพี่เบิ้มอย่าง “Professional Class” หรือ “Super Open Class” นั้น เป็นคลาสที่แทบจะไม่มีการจำกัดแรงม้าหรือขนาดของแอโรพาร์ทเลยทีเดียว เรียกได้ว่ามีปัญญาทำรถให้แรงแค่ไหนก็เอาเลย ขอให้ผ่านเรื่องเซฟตี้เป็นพอ จุดนี้เองที่เป็นเสน่ห์ของการแข่งขันประเภท Time Attack และกติกาแบบเปิดนี้เองที่ทำให้รถแข่งประเภทนี้ถูกโมดิฟายแบบสุดขั้ว ถึงขั้นที่ว่า สุดยอดรถแข่งทางเรียบอย่าง Super-GT Series ของญี่ปุ่น ที่แต่ละทีมมีแบ็คอัพเป็นสปอนเซอร์ยักษ์ใหญ่ อาจจะโดนรถปีศาจ Time Attack ทิ้งห่างแบบไม่เห็นฝุ่นด้วยซ้ำ
ด้วยสมรรถนะที่สุดยอดของรถ Time Attack ทำให้รถแข่งประเภทนี้ได้รับความนิยมภายในระยะเวลาอันสั้น โดยเฉพาะสาวกขาซิ่งทั้งหลายที่ชื่นชอบในความสุดยอดของรถ Time Attack ต่างก็พากันโมดิฟายรถของตัวเองให้กลายเป็นรถ Time Attack ในแบบฉบับของ “รถซิ่งวิ่งถนน” หรือที่เรียกว่าสไตล์ “Street Use” และพร้อมกันนั้นก็ได้นิยามคำศัพท์ขึ้นมาใหม่เพื่อใช้เรียกสไตล์การแต่งรถแนวนี้ว่า “Street Weapon” นั่นเอง เพราะฉะนั้น มันคงจะไม่ผิดนักถ้าเราจะพูดว่า
“Street Weapon เป็นรถที่สืบสายเลือดมาจาก Time-Attack Weapon”
“เราแต่งรถตามหลักการ ไม่ใช่ตามจินตนาการ” : Street Weapon Thailand
อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่ารถแข่งประเภท Time Attack นั้นจะให้ความสำคัญกับแอโรพาร์ทเป็นพิเศษ แอโรพาร์ประสิทธิภาพสูงจะถูกติดตั้งไว้รอบบริเวณตัวรถราวกับว่าเป็นชุดเกราะของนักรบ และธรรมเนียมการใส่แอโรพาร์ทนี้ก็ได้ถูกส่งต่อไปยังรถสาย Street Weapon อย่างไม่ผิดเพี้ยนแต่ประการใด แอโรพาร์ทเหล่านี้ทำให้รถสาย Street Weapon ที่ถึงแม้จะเป็นแค่รถซิ่งวิ่งถนน แต่ก็เป็นรถซิ่งที่มีแอโรไดนามิคส์ที่ดีที่สุดเท่าที่เคยมีมา แอโรพาร์ทรอบคันที่ถูกติดตั้งเข้าไปนั้น ถูกออกแบบมาเพื่อจัดเรียงการไหลของกระแสอากาศเพื่อที่จะให้สามารถไหลผ่านตัวรถไปอย่างราบเรียบ เพราะฉะนั้น รถสาย Street Weapon จึงเปรียบได้กับ “เทพเจ้าแห่งสายลม” (The God of wind) ที่สามารถบังคับทิศทางของลมได้อย่างแม่นยำและมีประสิทธิภาพ
ว่าแต่ว่า…ทำไมต้องให้ความสำคัญกับแอโรพาร์ทขนาดนั้น? แอโรไดนามิคส์มันสำคัญขนาดนั้นเชียวเหรอ?
หน้าที่หลักๆ ของแอโรพาร์ทที่ติดตั้งเข้าไปนั้นก็คือ “สร้างแรงกด” ให้กับรถ หรือที่เรียกว่า “Downforce” นั่นเอง แรงกดที่สร้างได้จะกดลงไปที่ยางทั้งสี่เส้น ทำให้ยางมีแรงยึดเกาะเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้รถสามารถเข้าโค้งด้วยความเร็วที่สูงขึ้น เพราะฉะนั้น วัตถุประสงค์หลักๆของแอโรพาร์ทก็คือ “สร้างแรงกดเพื่อทำให้รถสามารถเข้าโค้งได้เร็วขึ้นนั่นเอง” ไม่เพียงเท่านั้น แรงกดที่สร้างได้ยังช่วยทำให้รถมีความเสถียรมากขึ้นในขณะที่วิ่งทางตรงอีกด้วย
NEMO RACING’s Lancer Evolution VII
เพื่อที่จะให้เห็นว่าแอโรพาร์ทนั้นมีความสำคัญมากเพียงใด ผมจะขอแนะนำให้รู้จักกับสุดยอดของ Time-Attack Weapon ระดับ World-Class นั่นก็คือ เจ้าปลาการ์ตูน “NEMO” นั่นเอง NEMO คือรถแข่ง Time-Attack จากทีม “NEMO Racing” ประเทศออสเตรเลีย NEMO คันนี้มีพื้นฐานมาจาก Mitsubishi Lancer Evolution VII (EVO7) จุดเด่นของรถคันนี้ก็คงหนีไม่พ้นแอโรพาร์ทประสิทธิภาพสูงที่ถูกติดตั้งไว้รอบคัน แอโรพาร์ทเหล่านี้ทำให้ NEMO สามารถสร้างแรงกดได้มากถึง 600 กิโลกรัม (ที่ความเร็ว 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ซึ่งมากกว่า EVO7 เดิมๆ ถึง 13 เท่า! นั่นหมายความว่า NEMO จะสามารถเข้าโค้งได้เร็วกว่า EVO7 ประมาณ 1.4 เท่า สมมติว่า EVO7 สามารถเข้าโค้งด้วยความเร็ว 150 กิโลเมตรต่อชั่วโมงโดยที่ยังไม่หลุดโค้ง แต่เจ้าปลาปีศาจ NEMO จะสามารถเข้าโค้งเดียวกันนี้ด้วยความเร็วมากกว่า 210 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเลยทีเดียว ..อึ้งเลยล่ะสิ และนี่ก็คือตัวอย่างที่ชัดเจนที่แสดงให้เห็นว่า แอโรพาร์ทนั้นมีความสำคัญมากเพียงใด
เปรียบเทียบ Aero Part ระหว่าง Evo VII เดิมๆ กับ Evo VII ที่สร้างขึ้นมาเพื่อแข่ง Time Attack
อย่างไรก็ตาม ในการติดตั้งแอโรพาร์ทนั้น ความเชื่อที่ว่า ถ้าอยากได้แรงกดมากๆ ก็ต้องใส่แอโรพาร์ทให้เยอะๆ ครบๆ อันนี้เป็นความเชื่อที่ผิดอย่างแรง เหตุผลก็เพราะว่า แอโรพาร์ทแต่ละชิ้นนั้นถูกออกแบบมาเพื่อให้ทำหน้าที่แตกต่างกันออกไป และที่สำคัญกว่านั้นก็คือว่า “กระแสลมที่ไหลออกจากแอโรพาร์ทที่อยู่ด้านหน้าของตัวรถ จะส่งผลโดยตรงต่อประสิทธิภาพของแอโรพาร์ทที่อยู่ด้านหลัง” ยกตัวอย่างเช่น กระแสลมที่ไหลออกจากคานาร์ดจะไหลต่อไปยังสปอยเลอร์ เพราะฉะนั้น ถ้าหากคานาร์ดไม่ได้ถูกออกแบบมาอย่างถูกต้องแล้วล่ะก็ มีความเป็นไปได้สูงว่า กระแสลมที่ออกจากคานาร์จะกลายเป็นกระแสลมที่ปั่นป่วนและไม่เป็นระเบียบ กระแสอากาศที่ปั่นป่วนนี้จะไหลต่อไปยังสปอยเลอร์ ส่งผลให้สปอยเลอร์สามารถสร้างแรงกดได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น และกลายเป็นว่าสปอยเลอร์สุดเท่ห์ที่เราอุตส่าห์ซื้อมาติดตั้งนั้น ไม่ได้ถูกใช้งานอย่างเต็มประสิทธิภาพ
เพราะฉะนั้น การติดตั้งแอโรพาร์ทจึงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างซับซ้อนและละเอียดอ่อน และเพื่อที่จะทำให้แอโรพาร์ทสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น จะต้องมีการวิเคราะห์ทิศทางและพฤติกรรมของกระแสอากาศอย่างรอบคอบ ไม่ใช่สักแต่ว่าใส่เข้าไปให้เยอะๆ ครบๆ ดังนั้นในบทความนี้ ผมจึงอยากจะอธิบายถึงหลักการทำงานอย่างคร่าวๆ รวมไปถึงประโยชน์ของแอโรพาร์ทที่สำคัญๆ ซึ่งแอโรพาร์ทเหล่านี้ถือเป็นหัวใจของรถสาย Street Weapon อย่างแยกจากกันไม่ได้
1.Rear Wing (เรียวิง)
“Rear Wing” หรือ “Spoiler” ถือเป็นไอเท็มที่ขาดไม่ได้เลยสำหรับรถแนว Street Weapon หลักการทำงานของเรียวิงนั้นเหมือนกับหลักการของปีกเครื่องบินทุกประการ แต่ต่างกันที่วัตถุประสงค์เท่านั้น วัตถุประสงค์ของปีกเครื่องบินคือ “สร้างแรงยก” (Lift force) ส่วนวัตถุประสงค์ของเรียวิงคือ “สร้างแรงกด” (Downforce) นั่นหมายความว่าเรียวิงก็คือปีกเครื่องบินที่ถูกพลิกกลับด้านนั่นเอง (Inverted wing) แรงกดที่เกิดจากเรียวิงจะถ่ายทอดลงสู่ยางหลังเสียเป็นส่วนใหญ่ นั่นหมายความว่าการติดตั้งเรียวิงจะทำให้ยางหลังมีการยึดเกาะที่ดีขึ้น ท้ายรถจึงมีความเสถียรขึ้นเมื่อวิ่งด้วยความเร็วสูง
2. Splitter (สปลิตเตอร์)
“สปลิตเตอร์” หรือที่เรียกกันว่า “ลิ้นหน้า” เป็นแอโรพาร์ทที่ถูกติดตั้งไว้ที่ด้านล่างของ Bumper มีลักษณะเป็นแผ่นเรียบขนานไปกับพื้น อาจจะทำมาจากคาร์บอนไฟเบอร์หรือวัสดุอื่นๆ ก็ได้ สำหรับรถแข่งที่มีสมรรถนะสูงๆ จะมีแท่งซัพพอร์ต (Support Rods) เพื่อยึดลิ้นหน้าไว้กับตัวถัง ซึ่งเป็นการป้องกันไม่ให้ลิ้นหน้าเสียรูปเมื่อรับแรงกดมากๆ นั่นเอง วัตถุประสงค์ของลิ้นหน้า คือ สร้างแรงกดให้กับด้านหน้าของรถ เพื่อเพิ่มการยึดเกาะให้กับยางคู่หน้า ซึ่งจะช่วยลดอาการ “หน้าดื้อ” หรือ “Under-steer” ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3. Canard (คานาร์ด)
“คานาร์ด” มีลักษณะเป็นแผ่นสามเหลี่ยม ถูกติดตั้งไว้บริเวณกันชนทั้งสองข้างของตัวรถ โดยมากคานาร์ดจะทำมาจากคาร์บอนไฟเบอร์ หน้าที่ของคานาร์ดก็คือสร้างแรงกดที่ด้านหน้ารถ โดยมีหลักการอยู่ว่า เมื่ออากาศไหลผ่าน ครีบทั้งสองอันจะเปลี่ยนทิศทางของการไหลอากาศให้ไหลขึ้นข้างบน โมเมนตัมของอากาศที่ไหลขึ้นจะทำให้เกิด “แรงสุทธิ” ซึ่งมีทิศทางลงสู่พื้นโลก นั่นก็คือ “แรงกด” นั่นเอง นอกจากนี้แล้ว ครีบทั้งสองอันนี้ยังสามารถสร้างลมหมุน (Vortex) ซึ่งลมหมุนนี้จะเกิดขึ้นที่ด้านข้าง หมุนวนไปตลอดความยาวของรถ ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นเหมือนผ้าม่าน เพื่อกั้นความดันระหว่างโซนความดันสูงกับโซนความดันต่ำ (กั้นระหว่างอากาศที่ไหลเหนือรถขึ้นไปกับอากาศที่ไหลใต้ท้องรถ) การทำเช่นนี้จะทำให้รถสามารถสร้างแรงกดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
4. Diffuser (ดิฟฟิวเซอร์)
“ดิฟฟิวเซอร์” ถือเป็นหนึ่งในแอโรพาร์ทที่มีประสิทธิภาพสูงมาก ดิฟฟิวเซอร์จะถูกติดตั้งไว้ที่ใต้ท้องรถด้านท้ายเพื่อเร่งให้อากาศที่ไหลผ่านใต้ท้องรถมีความเร็วสูงมากขึ้น เมื่ออากาศที่ไหลผ่านใต้ท้องรถมีความเร็วสูงขึ้นแล้ว จะส่งผลให้ความดันของอากาศบริเวณใต้ท้องรถมีค่าลดลง ความแตกต่างของความดันของบริเวณเหนือรถและใต้รถจะส่งผลให้เกิด “แรงกด” โดยที่แรงกดที่เกิดขึ้นนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นแค่บริเวณที่มีดิฟฟิวเซอร์เท่านั้น (ไม่ได้เกิดขึ้นที่ท้ายรถเท่านั้น) แต่แรงกดนี้จะกระจายทั่วทั้งคัน (สำหรับรถ Formula1 แล้ว ดิฟฟิวเซอร์ถือเป็นอุปกรณ์ที่สามารถสร้างแรงกดได้มากที่สุด คิดเป็นประมาณ 40% ของแรงกดทั้งหมดที่สร้างได้)
นอกเหนือจากการสร้างแรงกดให้กับรถแล้ว ดิฟฟิวเซอร์ยังช่วยลดแรงต้านอากาศอันเนื่องมาจากการไหลปั่นป่วนที่เกิดขึ้นบริเวณท้ายรถอีกด้วย (Turbulent flow at Rear-end) โดยที่ดิฟฟิวเซอร์จะช่วยจัดเรียงอากาศที่ไหลใต้ท้องรถให้ไหลออกมาอย่างเป็นระเบียบมากขึ้น การทำเช่นนี้จะส่งผลให้แรงต้านอากาศลดลงอย่างมาก ทั้งนี้ทั้งนั้น ดิฟฟิวเซอร์จะมีประสิทธิภาพมากที่สุดก็ต่อเมื่อใช้ร่วมกับแผ่นปิดใต้ท้องรถ หรือที่เรียกว่า “Undertray” แผ่นปิดใต้ท้องรถจะช่วยจัดเรียงการไหลของอากาศให้มีระเบียบมากขึ้นก่อนที่จะเข้าดิฟฟิวเซอร์ ส่งผลให้ดิฟฟิวเซอร์สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพนั่นเอง
“Street Weapon ถือเป็นสายที่สามารถดึงเอาสมรรถนะของรถออกมาใช้ได้มากที่สุดอีกสายหนึ่ง”
ด้วยประสิทธิภาพเชิงแอโรไดนามิคส์ของรถสาย Street Weapon ประกอบกับการโมดิฟายเครื่องยนต์และช่วงล่างที่เน้นหนักไปทางการแข่งขันประเภทเซอร์กิต ทำให้ Street Weapon ถือเป็นรถที่สามารถดึงเอาสมรรถนะของรถมาใช้ได้มากที่สุดอีกสายหนึ่ง ด้วยการโมดิฟายอย่างมีหลักการและคำนึงถึง Performance ของรถเป็นหลัก ทำให้รถนี้เป็นรถซิ่งที่มีสมรรถนะที่สูงมากๆ เรียกได้ว่าสามารถเอาลงไปวิ่งแข่งขันในเซอร์กิตโดยที่แทบจะไม่ต้องโมดิฟายอะไรเพิ่มเติมเลย เพราะฉะนั้น ถ้าหากจะเรียกรถสาย Street Weapon ว่าเป็น “ศาสตราวุธที่พร้อมจะทำการศึกตลอดเวลา” (Ready-to-fire Weapon) ก็คงจะไม่ผิดนัก…
ที่มา: johsautolife.com