คอนติเนนทอล ผู้พัฒนาเทคโนโลยีอัจฉริยะสำหรับผู้ใช้ยานยนต์ ได้จัดงานแสดงเทคโนโลยีและนวัตกรรมยานยนต์ “Thailand TechRide” เป็นครั้งแรก ณ สนามมอเตอร์สปอร์ตพาร์ค ในวันที่ 26-30 พฤศจิกายน 2561 ซึ่งการจัดงานในครั้งนี้คอนติเนนทอลได้นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมยานยนต์อัจฉริยะมากมายมานำเสนอไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีระบบขับขี่อัตโนมัติ (Automated Driving) ระบบช่วยเหลือผู้ขับขี่ขั้นสูง (Advanced Driver Assistance Systems) และระบบข้อมูลและความบันเทิงภายในยานยนต์ (Infotainment System) ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าวช่วยให้การขับขี่ปลอดภัย ลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุสะดวกสบาย รวมถึงเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
เทคโนโลยีระบบขับขี่อัตโนมัติ
กล้องรอบคัน
นาย ปีเตอร์ รางเคิ้ล ประธานคอนติเนนทอล ออโตโมทีฟ อาเซียน
ปัจจุบันอุตสาหกรรมยานยนต์มีการเปลี่ยนแปลงไปตามความต้องการของผู้บริโภคจากทั่วทุกมุมโลก ไม่ว่าจะเป็นความต้องการทางด้านความปลอดภัย เทคโนโลยีสะอาดที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือระบบการเชื่อมต่อที่ล้ำสมัย นาย ปีเตอร์ รางเคิ้ล ประธานคอนติเนนทอล ออโตโมทีฟ อาเซียน กล่าวว่า “จุดมุ่งหมายของเราคือ การตอบสนองความต้องการที่จำเป็นเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นการลดอุบัติเหตุให้เป็นศูนย์ เพื่อปกป้องชีวิตมนุษย์และอนุรักษ์ทรัพยากรที่มีอยู่บนโลกให้ยั่งยืนที่สุด รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีอัจฉริยะสำหรับผู้ใช้ยานยนต์ให้มีความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น”
ส่วนประเทศไทยนั้นอัตราการเกิดอุบัติเหตุและจำนวนผู้เสียชีวิตบนท้องถนนยังคงเป็นปัญหาสำคัญ คอนติเนนทอลจึงได้พัฒนาเทคโนโลยีระบบป้องกันก่อนเกิดเหตุ (Active Safety) และระบบป้องกันภัยเมื่อเกิดเหตุ (Passive Safety) ที่ช่วยลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้อย่างมาก
“ในครั้งนี้คอนติเนนทอลได้จัดงาน Thailand TechRide เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมงานได้รับประสบการณ์และมุมมองทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมรอบด้าน พร้อมทั้งร่วมทดลองขับขี่ยานยนต์ทดสอบที่มีการติดตั้งเทคโนโลยีและชิ้นส่วนยานยนต์จากคอนติเนนทอล นอกจากนี้ผู้เข้าร่วมงานสามารถสอบถามและแลกเปลี่ยนความรู้กับผู้เชี่ยวชาญจากบริษัทฯ ที่มาจาก 3 กลุ่มธุรกิจด้วยกัน คือ กลุ่มธุรกิจช่วงล่างและความปลอดภัย กลุ่มธุรกิจอุปกรณ์ภายในรถยนต์ และกลุ่มธุรกิจระบบขับเคลื่อน” นายรางเคิ้ล กล่าวเสริม
ระบบเบรกมือไฟฟ้า มีทั้งดิสก์เบรก เเละ ดรัมเบรก
ระบบเบรกมือไฟฟ้า ที่ติดตั้งในรถทดสอบ
สายไฟเซ็นเซอร์ ABS
เซ็นเซอร์ระบบเบรก ABS ที่ออกแบบมาให้อ่านค่าในมุมใดก็ได้ เพื่อความสะดวกในการออกแบบจุดที่ติดตั้ง
หม้อลมเบรกที่รวม ABS และกล่องควบคุมเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อประหยัดพื้นที่ในการติดตั้ง
ทดสอบระบบเบรกมือไฟฟ้า
รถทดสอบระบบช่วยเบรกฉุกเฉิน
ทดสอบระบบช่วยเบรกฉุกเฉิน จะช่วยหยุดรถให้โดยทันทีที่มีสิ่งกีดขวาง
โดยทางกลุ่มธุรกิจช่วงล่างและความปลอดภัยนั้นได้นำชิ้นส่วนยานยนต์ต่างๆ มากมายมานำเสนอภายในงานเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นระบบป้องกันก่อนเกิดเหตุ (Active Safety) ระบบป้องกันภัยเมื่อเกิดเหตุ (Passive Safety) และเทคโนโลยีระบบขับขี่อัตโนมัติซึ่งกลุ่มผลิตภัณฑ์มีตั้งแต่ระบบเบรกอิเล็กทรอนิกและระบบเบรกไฮดรอลิก ระบบควบคุมช่วงล่างจนถึงเซ็นเซอร์ ระบบช่วยเหลือผู้ขับขี่ขั้นสูง รวมถึงถุงลมอิเล็กทรอนิกส์และระบบเซ็นเซอร์ของถุงลมนิรภัย โดยผลิตภัณฑ์หลักในงานครั้งนี้ก็จะมีระบบเบรกมือไฟฟ้า (Electric Parking Brake หรือ EPB) สำหรับยานยนต์ขนาดเล็กที่ใช้ดรัมเบรก ซึ่งข้อดีของผลิตภัณฑ์นี้สำหรับผู้ผลิตยานยนต์ คือ การลดต้นทุน น้ำหนัก และขนาดของรถยนต์นั่นเอง ต่อมาก็จะเป็นระบบเบรก (Integrated Brake System MK C1) สำหรับระบบขับขี่อัตโนมัติขั้นสูง เซ็นเซอร์เรดาร์ระยะไกล (Long Range Radar) สำหรับสนับสนุนระบบช่วยเบรกฉุกเฉินขณะขับขี่ยานยนต์ผ่านสี่แยกหรือทางม้าลาย ซึ่งขณะเดียวกันก็สามารถตรวจจับรถจักรยานยนต์และผู้ขี่รถจักรยานด้วยเช่นกัน และเทคโนโลยีด้านการสื่อสารสำหรับส่งผ่านข้อมูลจากยานพาหนะไปยังสิ่งต่างๆ (Vehicle to Everything หรือ V2X) อาทิระหว่างยานยนต์ด้วยกันเอง โครงสร้างพื้นฐาน หรือจะเป็นผู้ใช้ถนนก็สามารถใช้เทคโนโลยีดังกล่าวเพื่อแจ้งเตือนสถานการณ์ล่วงหน้าที่อาจเป็นอันตรายได้
เรือนไมล์ดิจิทัล
สามารถปรับเปลี่ยนการแสดงผลผ่าน Smart phone ได้เลย
นอกจากนี้กลุ่มธุรกิจอุปกรณ์ภายในรถยนต์ยังนำเสนอโซลูชันด้านการจัดการข้อมูลภายในยานยนต์เพื่อให้ยานพาหนะในอนาคตมีการใช้งานง่าย สะดวกสบาย ปลอดภัย และมีความอัจฉริยะยิ่งขึ้น ด้วยกลุ่มผลิตภัณฑ์สำหรับยานยนต์ประเภทต่างๆ เช่น เรือนไมล์ (Instrument Cluster) ระบบข้อมูลและความบันเทิงภายในยานยนต์ (Infotainment System) แผงควบคุมอุณหภูมิสำหรับเครื่องปรับอากาศ (Control Panel) รวมทั้งการบริการและโซลูชันสำหรับระบบเทเลเมติกส์และระบบขนส่งอัจฉริยะ ซึ่ง Key as a Service หรือ KaaS หนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่นำมาแสดงในงานครั้งนี้ สิ่งนี้เป็นเสมือนกุญแจที่ผู้ขับสามารถเปิดปิดประตูยานยนต์ผ่านทางสมาร์ทโฟนโดยการดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน ซึ่งเป็นโซลูชันที่เหมาะมากสำหรับครอบครัว หรือกลุ่มธุรกิจบริการยานยนต์ให้เช่า รวมถึงเรือนไมล์ดิจิทัล (Full Digital Instrument Cluster) ที่ถูกออกแบบมาเพื่อยานยนต์เชิงพาณิชย์ด้วยระบบปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ขับขี่กับยานยนต์
เซ็นเซอร์วัดแรงดันลมยาง และเซ็นเซอร์วัดแรงดันลมยางพร้อมวัดความหนาของยาง (ที่ติดตั้งด้านในของยาง)
เซ็นเซอร์วัดระดับก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ (Smart NOx Sensor)
สำหรับกลุ่มธุรกิจระบบขับเคลื่อนก็มุ่งเน้นไปที่เทคโนโลยียานยนต์ระบบไฟฟ้า และโซลูชันในการควบคุมมลพิษทางอากาศเพื่อสิ่งแวดล้อมที่สะอาด ผลิตภัณฑ์ที่นำมาแสดงจะเป็นระบบไฮบริด (48V Mild Hybrid system) สำหรับเครื่องยนต์ดีเซลและเบนซินเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ระบบคันเร่งไฟฟ้ารุ่นล่าสุด (Electronic Throttle Control หรือ ETC) เพื่อเพิ่มการควบคุมแรงบิดของมอเตอร์ให้มีความแม่นยำยิ่งขึ้นสำหรับเครื่องยนต์เบนซิน รวมถึงเครื่องยนต์ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติซีเอ็นจี (CNG) แอลพีจี (LPG) และแก๊สโซฮอล์ นอกจากนี้ยังมีเทคโนโลยีอัจฉริยะเซ็นเซอร์วัดระดับก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ (Smart NOx Sensor) เพื่อวิเคราะห์การทำงานของระบบ SCR ในการลดการปล่อยก๊าซไนโตรเจนออกไซด์
หัวฉีดเครื่องยนต์ดีเซล คอมมอนเรว และปั้มน้ำมันเชื้อเพลิง