สหภาพยุโรปประกาศกฎข้อบังคับให้ติดตั้งระบบเตือนภัยฉุกเฉิน (Automatic Emergency Alert System) หรือที่เรียกกันว่า “ระบบอีคอล (eCall)” ในยานยนต์รุ่นใหม่ทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นรุ่นไหน หรือจากผู้ผลิตค่ายใด โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนเมษายน 2561 เป็นต้นไป โดยอีคอลถือเป็นระบบมาตรฐานที่จะต้องติดตั้งในยานยนต์เพื่อความปลอดภัยบนท้องถนน ซึ่งระบบดังกล่าวก็คือส่วนหนึ่งของระบบเทเลเมติกส์ (Telematics) ที่มีหน้าที่เชื่อมต่อและรับส่งข้อมูลทางไกลผ่านเครือข่ายโทรศัพท์บนสมาร์ทโฟนกับแอปพลิเคชัน
คอนติเนนทอล ผู้นำด้านเทคโนโลยียานยนต์ได้มีการพัฒนาระบบเทเลเมติกส์มาโดยตลอด ตั้งแต่ปี 2539 และทางบริษัทฯ ก็มีความยินดีและเห็นด้วยกับทางคณะกรรมาธิการยุโรปสำหรับกฎข้อบังคับในการติดตั้งระบบอีคอลในยานยนต์รุ่นใหม่ทุกประเภท
นาย โยฮันน์ เฮเบล หัวหน้ากลุ่มธุรกิจ Infotainment and Connectivity กล่าวว่า “ระบบอีคอลเป็นเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติที่จะช่วยลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุและการเสียชีวิตบนท้องถนน ซึ่งตอบโจทย์กับวิสัยทัศน์บริษัทฯ คือ “การลดอุบัติเหตุให้เป็นศูนย์ (Vision Zero)” ซึ่งฟังก์ชันการทำงานของระบบอีคอลจะใช้ระบบเทเลเมติกส์ในการวิเคราะห์ข้อมูลและพฤติกรรมของผู้ขับขี่ยานยนต์แบบเรียลไทม์ผ่านทางแอปพลิเคชันรวมถึงการแจ้งเตือนสภาพการจราจรหรืออันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ขณะขับขี่ยานยนต์”
โดยประโยชน์ของการติดตั้งระบบอีคอลในยานยนต์นั้น เมื่อผู้ขับขี่ยานยนต์เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนขึ้นระบบดังกล่าวจะมีการส่งสถานที่เกิดอุบัติเหตุไปยังศูนย์บริการรับเหตุฉุกเฉินที่อยู่ใกล้สถานที่เกิดเหตุมากที่สุด เพื่อติดต่อและประสานงานกับผู้เกี่ยวข้องในการขอความช่วยเหลืออย่างทันท่วงที โดยระบบดังกล่าวจะใช้หมายเลขฉุกเฉินของยุโรป คือ “112” เป็นหมายเลขมาตรฐานในการติดต่อขอความช่วยเหลือ นอกจากนี้จากข้อมูลของคณะกรรมาธิการยุโรปพบว่า ระบบอีคอลสามารถลดเวลาในการติดต่อขอความช่วยเหลือแบบฉุกเฉินได้ถึง 40 เปอร์เซ็นต์ในเขตพื้นที่เมือง และ 50 เปอร์เซ็นต์ ในเขตพื้นที่นอกเมืองทำให้ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บได้รับการช่วยเหลือได้เร็วขึ้นและทันท่วงที อีกทั้งยังสามารถป้องกันอันตรายและความร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้นต่อผู้ที่ได้รับบาดเจ็บได้ด้วยเช่นกัน จากสถิติพบว่าระบบนี้สามารถลดอัตราจำนวนนผู้เสียชีวิตได้ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ต่อปี
ระบบอีคอลจะถูกเปิดใช้งานอัตโนมัติเมื่อถุงลมนิรภัยทำงานแต่ผู้ขับขี่ยานยนต์ก็สามารถเปิดใช้ระบบได้ด้วยตนเองเช่นกันในกรณีที่ผู้ขับขี่ยานยนต์พบเจออุบัติเหตุร้ายแรง ตามข้อกำหนดมาตรฐานของยุโรปได้มีการกำหนดข้อมูลพื้นฐานที่เกี่ยวข้องในการขอความช่วยเหลือสำหรับสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น เวลาเกิดเหตุ ประเภทยานยนต์และตำแหน่งที่ตั้ง พฤติกรรมการขับขี่ จำนวนผู้โดยสาร ทิศทางการเดินทาง รวมถึงสถานที่เกิดอุบัติเหตุ เพื่อส่งไปยังศูนย์บริการรับเหตุฉุกเฉิน
ฮาร์ดแวร์ในยานยนต์ที่ใช้สำหรับระบบอีคอลคือ ระบบเทเลเมติกส์ที่ฝังไว้ ซึ่งประกอบไปด้วยโมเด็ม (อุปกรณ์การเชื่อมต่อเครือข่าย)ระบบบอกตำแหน่งบนพื้นผิวโลก (กาลิเลโอ) และระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่จำเป็นสำหรับการเชื่อมต่อยานยนต์รวมถึงแบตเตอรี่สำรอง นายเฮเบล กล่าวเสริมว่า “อย่างไรก็ตามระบบอีคอลเป็นเพียงหนึ่งในร้อยฟังก์ชันที่สามารถรวมเข้าไว้ในระบบเทเลเมติกส์สำหรับยานยนต์รุ่นใหม่ทุกประเภทได้ซึ่งเป็นรากฐานที่สำคัญของการเชื่อมต่อแบบองค์รวม ดังนั้นตั้งแต่เดือนเมษายน 2561 เป็นต้นไป ยานยนต์จะเปรียบเสมือนสมาร์ทโฟนเคลื่อนที่ที่สามารถหลอมรวมระหว่างโทรศัพท์กับโลกดิจิทัลเข้าด้วยกันได้”